ด้วยเหตุการณ์ที่มีการแจ้งเตือนภัยในสื่อออนไลน์โดยสังเกตผ่านก้อนเมฆนั้น กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาแต่อย่างใด ซึ่งเมฆมีรูปร่างและสีแตกต่างกันได้หลายแบบตามชนิดของเมฆ บางครั้งเราเห็นเมฆมีรูปร่างเป็นก้อนคล้ายสำลีลอยอยู่บนท้องฟ้าที่ระดับความสูงต่างกัน บางครั้งมีรูปร่างคล้ายขนนก และบางครั้งอาจเห็นเมฆมีขนาดใหญ่เป็นแผ่นหนาคล้าย ๆ กำแพง และเมฆที่พบเหล่านั้นก็คือเมฆอัลโตคิวมูลัส
ซึ่งเมฆอัลโตคิวมูลัสเป็นเมฆระดับกลาง ก่อตัวที่ชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูง 7,000–18,000 ฟุต (2,000–5,000 เมตร) เมฆชนิดนี้สามารถก่อตัวได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสลายตัวของเมฆอัลโตสเตรตัส หรือการยกตัวของอากาศชื้นที่ถูกทำให้เย็นตัวลงด้วยความปั่นป่วนของอากาศ
โดยทั่วไปเมฆอัลโตคิวมูลัสไม่ก่อให้เกิดฝนตก แต่สามารถใช้พยากรณ์ถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงภายในวันนั้นหรือวันต่อมาได้ และไม่สามารถเตือนภัยที่จะเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารประสบอุบัติเหตุแต่อย่างใด