ตามที่มีข้อมูลในเรื่องรัฐขึ้นภาษี 15% ไม่ได้ จึงปรับประกันสังคมขึ้นเป็น 1,150 บาทต่อเดือน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
เนื่องจากมีการเผยแพร่ระบุว่า รัฐขึ้นภาษี 15% ไม่ได้ จึงปรับประกันสังคมขึ้นเป็น 1,150 บาทต่อเดือนนั้น ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้กำหนด เพดานค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 และไม่เคยมีการแก้ไขถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 34 ปีส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ที่อิงกับฐานเพดานค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็น เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีว่างงาน เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อ การคลอดบุตร เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ
เมื่อไม่มีการปรับฐานเพดานค่าจ้าง ทำให้ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ไว้ และไม่สอดคล้องกับค่าจ้างจริงในปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงฐานเพดานค่าจ้างให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจ โดยการกำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จะมีการปรับฐานสูงสุดจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท กำหนดอัตราใหม่ ตามกรอบเวลาแบบขั้นบันได 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ปรับเพดานค่าจ้างเป็นจำนวนเงินไม่เกินเดือนละ 17,500 บาท จะจ่ายเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 875 บาท
ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2572 ปรับเพดานค่าจ้างเป็นจำนวนเงินไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2575 ปรับเพดานค่าจ้างเป็นจำนวนเงินไม่เกินเดือนละ 23,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 1,150 บาท
ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือติดต่อสายด่วน 1506
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ไม่เคยมีการแก้ไขถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 34 ปี ทำให้ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 15,000 บาท ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ไว้ และไม่สอดคล้องกับค่าจ้างจริงในปัจจุบัน