จำนวนผู้เข้าชม 29,205,852

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

จากประเด็นเรื่องประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ตามที่มีการโพสต์โดยระบุถึงประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทางกลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ล่าสุดจะเป็นการดำเนินโดยผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565 ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง (เฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 12.40 ล้านรายประกอบด้วย

1. ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้วตามฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง และไม่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
2. ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
3. ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ ตามฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา แต่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ พก. พม. ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งไม่รวมถึงผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จ และเป็นบุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ตามที่ พม. ได้ยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง

และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของคนพิการซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภทในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่
-ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา -บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ (กรณีไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ย

สำหรับการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายเงิน ดังนี้
25 กันยายน 2567 – คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0
26 กันยายน 2567 – ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3
27 กันยายน 2567 – ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7
30 กันยายน 2567 – ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9

ทั้งนี้ ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 และครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ

website stamp

ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.mof.go.th หรือโทร 02 126 5800

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ล่าสุดจะเป็นการดำเนินโดยผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด