ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ต่างๆ เรื่อง กรมเจ้าท่าเตรียม Beach Clean up พื้นที่ชายหาดระยอง และฟื้นฟูระบบธรรมชาติ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
จากเหตุการณ์กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ซึ่งกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ภายใต้แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ(แผนชาติ) เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติและความรับผิดชอบทั้งรัฐและเอกชน ในการขจัดมลพิษจากน้ำมัน ตามแผนชาติที่จัดทโดยคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน
นายภูริพัฒน์ ธีรกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยอง ได้มีน้ำมันบางส่วนเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 โดยกรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดเก็บและยับยั้งคราบน้ำมันดิบทั้งในทะเลและบนชายฝั่ง จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 รวมระยะเวลา 8 วัน
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน กรมเจ้าท่า พร้อมด้วย ทัพเรือภาคที่ 1 ศรชล.จังหวัดระยอง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ได้ติดตามสถานการณ์ในทุกพื้นที่ ซี่งจากภาพถ่ายจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และเรือตรวจการณ์เจ้าท่า 802,804, 175 เรือเด่นสุทธิ และโดรนของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI)ลาดตระเวนพื้นที่ตั้งแต่ โซน A (บริเวณกองพันทหารราบที่ 7 ถึง ศูนย์วิจัยกรมประมง ระยะทาง 2 กิโลเมตร) โซน B (บริเวณศูนย์วิจัยกรมประมง ถึง หาดแม่รำพึง ระยะทาง 2 กิโลเมตร)โซน C (บริเวณหาดแม่รำพึง ถึง ลานหินขาว ระยะทาง 2 กิโลเมตร)โซน D (บริเวณลานหินขาว ถึง เขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด ระยะทาง 2 กิโลเมตร) โซน E 1 (บริเวณเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด) และโซน E 2 (บริเวณเกาะเสม็ด) ยังไม่พบคราบน้ำมันในทะเลและบริเวณชายฝั่งแต่อย่างใด โดยกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด IESG และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ระยอง ได้หารือในเรื่องของการนำแผ่นดูดซับคราบน้ำมันขึ้นจากพื้นทราย เพื่อตรวจสอบคราบน้ำมันดิบและคืนพื้นที่ชายหาด ซี่งสถานการณ์แนวโน้มดีขึ้นโดยตลอด ขั้นตอน Beach Clean up และเตรียมเข้าสู่ระยะการฟื้นฟูชายหาด เพื่อเคลียร์พื้นที่ชายหาดคืนสู่ระบบธรรมชาติและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยหลักเกณฑ์การลดระดับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปสู่ระยะแผนฟื้นฟู ต้องไม่พบคราบน้ำมันใหม่ในทะเล คราบน้ำมันบนชายฝั่งในทุกโซน A-E คราบน้ำมัน ผลจากการสำรวจใต้น้ำ ในทุกระยะ 1 กิโลเมตร 3 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร และในพื้นที่อ่อนไหว ระยะเวลา 3 วัน ติดต่อกัน
ในระยะฟื้นฟูจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน อาศัยอำนาจตามข้อ 10(5) และของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 13 ของแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน จะได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน
สำหรับอำนาจหน้าที่ คณะอนุกรรมการฯ จะประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ อีกทั้งความเสียหายของพื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน/จัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย ตลอดจนติดตามผลการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย การฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดระยอง ได้ดำเนินการจัดตั้งจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีพบคราบน้ำมัน ณ บริเวณชายหาด บ้านสบาย สบาย รีสอร์ท ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินการ ดังนี้
1. ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดระยอง
2. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง
3. อำเภอเมืองระยอง
4. องค์การบริหารส่วนตำบลตะพง
5. บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)
6. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง
เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมเจ้าท่า สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.md.go.th หรือโทร. 02 2331311