จำนวนผู้เข้าชม 29,230,395
ข่าวบิดเบือน
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

NASA เตือนภัย เตรียมรับมือพายุสุริยะ คาดทำระบบเน็ตล่มนานนับเดือน

เช็กก่อนจะกดแชร์ หลังจากมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตระบุว่า NASA เตือนภัย เตรียมรับมือพายุสุริยะ คาดทำระบบเน็ตล่มนานนับเดือน ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ระบุว่า NASA เตือนภัย เตรียมรับมือพายุสุริยะ คาดทำระบบเน็ตล่มนานนับเดือน ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า เป็นความจริง โดยในส่วนของหลุมโคโรนาบนดวงอาทิตย์ (Coronal hole, CH) หมายเลขที่ 11 และ 12 หรือ CH11 และ CH12 ซึ่งหลุมนี้อยู่ตรงกลางค่อนมาทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ มีแนวโน้มว่า จะมีลมสุริยะผ่านมายังโลก ซึ่งอาจจะมีผลกระทบเข้ามาต่อสนามแม่เหล็กโลกในระดับไม่รุนแรงในระดับ G1-G2 ในระหว่างวันที่ 31 ม.ค 68 – 1 ก.พ 68 ทั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรง จนถึงขั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตล่มแต่อย่างใด

ถึงแม้ว่าในช่วงปี 2567-2568 จะถือเป็นช่วงสูงสุด (peak) ของรอบวัฏจักรสุริยะ (Solar cycle) รอบที่ 25 โดยพายุสุริยะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และแนวโน้มวัฎจักรสุริยะในรอบนี้ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา นอกจากนี้ โลกมีสนามแม่เหล็กโลกและชั้นบรรยากาศปกป้องสิ่งมีชีวิตจากรังสีและอนุภาคพลังงานสูง พายุสุริยะอาจมีผลกระทบต่อระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมหรือสัญญาณ GPS บ้าง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนรับมือและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว ปัจจุบันหลายประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยหน่วยงานด้านอวกาศ (NASA) สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และในประเทศไทย โดย GISTDA มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

พายุสุริยะ

ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการคาดการเหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรสนามแม่เหล็ก (Equatorial region) ได้รับการปกป้องจากสนามแม่เหล็กโลกสูง อย่างไรก็ตาม GISTDA โดยการวิเคราะห์ด้วยระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ หรือ jasper มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจากข้อมูลต่างประเทศและข้อมูลตรวจวัดในประเทศ หากมีความเสี่ยงและมีผลกระทบต่อประเทศไทย GISTDA จะดำเนินการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยทันที เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบกับประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ก่อนตื่นตระหนก อย่างไรก็ดี การเกิดปรากฏการณ์ Geomagnetic storm หรือพายุสนามแม่เหล็กนั้นนั้น ก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ-แสงใต้ (Aurora) ที่เกิดขึ้นอย่างสวยงามในหลายพื้นที่ที่อยู่ห่างจากขั้วโลก เช่น สหรัฐอเมริกาเหนือและยุโรปเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากอนุภาคสุริยะที่ปะทะกับชั้นบรรยากาศโลก ดังที่ประชาชนบริเวณดังกล่าวได้เห็นกันอย่างชัดเจนในช่วงเดือน พฤษภาคม และ ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

ซึ่งขณะนี้หน่วยงานอวกาศและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ทำงานร่วมกัน ในการติดตามและคาดการณ์สภาพอวกาศ (Space weather) เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า และมาตรการป้องกันเพื่อปกป้องเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมของมนุษย์จากผลกระทบของสภาพอวกาศ และที่สำคัญ สิ่งที่ประชาชนควรทราบคือการมี awareness (ความตระหนักรู้) แต่ไม่ตื่นตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ตรวจสอบให้ดี ข้อมูลนี้เชื่อถือได้

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด