จำนวนผู้เข้าชม 29,206,633
ข่าวจริง
ภัยพิบัติ

สมาคมดาราศาสตร์ไทย ออกประกาศเตือน พายุแม่เหล็กโลก ระดับร้ายแรง จริงหรือ?

จากที่มีการส่งต่อข้อมูลเรื่องสมาคมดาราศาสตร์ไทย ออกประกาศเตือน พายุแม่เหล็กโลก ระดับร้ายแรง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง

การปะทุที่เกิดขึ้นล่าสุดบนดวงอาทิตย์เป็น “การพ่นมวลโคโรนา (CME : Coronal Mass Ejection)” ซึ่งเป็นการพ่นกลุ่มอนุภาคมีประจุครั้งใหญ่จากดวงอาทิตย์ เมื่อ CME เดินทางมาถึงโลก จะทำให้เกิดผลกระทบ 3 ประเด็น

1. แสงออโรราที่ปรากฏสว่างชัดเจน (เฉพาะพื้นที่ละติจูดสูง-ใกล้ขั้วโลก) สนามแม่เหล็กโลกจะเบี่ยงให้อนุภาคมีประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์เหล่านี้ลงมาสู่บรรยากาศโลกบริเวณใกล้ขั้วโลก เมื่ออนุภาคมีประจุดังกล่าวชนเข้ากับอนุภาคแก๊สในบรรยากาศชั้นบนของโลก อนุภาคแก๊สจะปล่อยพลังงานในรูปของแสง เกิดเป็นแสงเหนือ-แสงใต้ (Aurora) ที่ปรากฏชัดเจนเหนือประเทศแถบละติจูดสูง หรือใกล้ขั้วโลก

2. ความเสี่ยงต่อระบบส่งไฟฟ้า และไฟดับเป็นบริเวณกว้าง (เฉพาะพื้นที่ละติจูดสูง-ใกล้ขั้วโลก) ฝูงอนุภาคมีประจุใน CME ที่รบกวน-ปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กโลก ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งเรียกว่า “พายุแม่เหล็กโลก (Geomagnetic storm)” ซึ่งความปั่นป่วนของสนามแม่เหล็กโลกจะสามารถเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าที่พื้นผิวโลก หากกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนนี้เข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้า จะทำให้หม้อแปลงเกิดความเสียหาย และสามารถทำให้เกิดไฟดับเป็นบริเวณกว้าง เช่น ไฟดับนาน 9 ชั่วโมง ทางภาคตะวันออกของแคนาดา เมื่อปี ค.ศ. 1989

3. ความเสี่ยงต่อระบบดาวเทียม และระบบนำทาง เมื่อฝูงอนุภาคมีประจุใน CME มาปะทะเข้ากับดาวเทียม สามารถทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่ตัวดาวเทียม จนดาวเทียมเสียหายได้ และเกิดความเสี่ยงต่อเนื่องถึงระบบนำทาง-ระบุพิกัดตำแหน่ง (เช่น GPS) ที่ต้องใช้เครือข่ายดาวเทียมหลายดวง

ขณะที่ “การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์” (Solar Flare) ซึ่งเป็นการปะทุปล่อยรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เข้มข้นจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับ CME ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการสื่อสารทางวิทยุในแบบ “สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราว” (Radio blackout)

“สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราว” เกิดขึ้นเมื่อรังสีจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลก ทำให้อนุภาคแก๊สในบรรยากาศชั้นบนของโลกมีประจุไฟฟ้า อนุภาคแก๊สมีประจุส่วนนี้ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้นที่ใช้สื่อสารคมนาคมเดินทางผ่านได้ยากขึ้น เพราะเมื่อคลื่นวิทยุเดินทางผ่านชั้นอนุภาคแก๊สมีประจุไฟฟ้า จะเสียพลังงานจากการชนกับอิเล็กตรอนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนสัญญาณคลื่นวิทยุอ่อนลงหรือถูกดูดกลืนไปทั้งหมด

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ “สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราว” (ผลกระทบจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์) และระบบนำทาง (ผลกระทบจาก CME) ร่วมกันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบิน (เครื่องบินที่ต้องใช้ระบบนำทางและสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสาร) ด้วย

อย่างไรก็ตาม มวลกลุ่มอนุภาคมีประจุใน CME จะเดินทางถึงโลก ในช่วงประมาณเที่ยงคืน เข้าวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2024 (ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งเป็นช่วงที่โลกหันฝั่งประเทศไทยออกจากดวงอาทิตย์ และหันฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ-อเมริกาใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ จึงทำให้ประเทศบริเวณละติจูดสูงในซีกโลกฝั่งนั้น (สหรัฐฯ กับแคนาดา) มีความเสี่ยงจาก CME และพายุสนามแม่เหล็กโลกมากกว่า จึงทำให้องค์กรบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ออกประกาศแจ้งเตือนต่อสังคมสหรัฐฯ

พายุแม่เหล็กโลก

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.narit.or.th โทร. 0531212689

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด