ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะมะเขือเทศมีใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ (87%) ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับอาการท้องผูกได้ และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินซี โพแทสเซียม โฟเลท และมีสารสำคัญที่พบมากในมะเขือเทศมักจะเป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ได้แก่ ไลโคปีน (Lycopene) เบตา-แคโรทีน (ฺBeta-Carotene) แอลฟา-แคโรทีน (Alpha-Carotene) และลูทีน (Lutein) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งได้
แต่หากต้องการรับประทานมะเขือเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคควรรับประทานในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงระมัดระวังในกรณีต่อไปนี้
-มะเขือเทศในรูปสารสกัดไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 8 สัปดาห์ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
-การรับประทานใบมะเขือเทศในปริมาณมากอาจเป็นพิษ ทำให้ผู้ที่รับประทานเกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองลำคอและช่องปากอย่างรุนแรง อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตในบางราย
-สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานมะเขือเทศในรูปสารสกัดในปริมาณมากโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันความปลอดภัยเพียงพอ
ข้อมูลที่บิดเบือนอาจทำให้สับสน โปรดศึกษาให้ละเอียดก่อนเชื่อ