อย่าตื่นตระหนก ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567-31 มกราคม 2568 พบพะยูนเกยตื้นทั้งสิ้น 28 ตัว เฉลี่ยเดือนละ 7 ตัว โดยการเกยตื้นเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การป่วยเรื้อรัง เรือชน และคาดว่า ติดเครื่องมือประมง เป็นต้น เนื่องจากสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่ทะเลอันดามัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่หญ้าทะเลในจังหวัดตรัง ซึ่งมีผลกระทบต่อสัตว์ทะเล โดยเฉพาะพะยูนที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก และพบพะยูนจำนวน 3 ตัวที่เกยตื้น เนื่องจากสาเหตุการขาดอาหารซึ่งเป็นผลจากหญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยพบว่า เกยตื้นที่จังหวัดตรัง 2 ตัว และจังหวัดสตูล 1 ตัว
จากการสำรวจพะยูนในพื้นที่ทะเลอันดามันโดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืชและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการอนุรักษ์พะยูน พบว่า พะยูนบางส่วนได้มีการอพยพไปยังแหล่งหญ้าทะเลอื่น โดยเฉพาะแหล่งหญ้าที่บริเวณอ่าวพังงา และจังหวัดภูเก็ต พบจำนวนประชากรพะยูนเพิ่มขึ้นและสามารถระบุจากอัตลักษณ์ได้ว่า พะยูนบางตัวมาจากจังหวัดตรัง
นอกจากการสำรวจประชากรพะยูนแล้ว ทางกรม อส และ ทช ยังมีการวางแผนและดำเนินการด้านต่าง ๆ ในการอนุรักษ์พะยูน เช่น การเตรียมความพร้อมในการดูแลและจัดการพะยูนเกยตื้น การตรวจสุขภาพพะยูนในถิ่นที่อยู่อาศัย การดำเนินการลาดตระเวนในพื้นที่หญ้าทะเล จัดทำคอกฟื้นฟูหญ้าทะเล การจัดทำแปลงอาหารเสริมให้แก่พะยูน เป็นต้น และยังได้มีการประสานงานกับจังหวัดเพื่อจัดทำมาตรการในการคุ้มครองพะยูนในพื้นที่ ในการจัดการพื้นที่หญ้าทะเล ได้มีการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล โดยมีการทดลองการล้อมคอกหญ้าทะเล ซึ่งพบว่า หญ้าคาทะเล ซึ่งเป็นหญ้าใบยาวสามารถเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมพื้นที่เพื่อทำแหล่งพันธุ์หญ้าทะเลในการฟื้นฟูหญ้าในอนาคต
AFNC รู้เท่าทันข้อมูลเท็จ เราเช็กข่าวให้แล้ว