น้ำส้มสายชู เป็นของเหลวที่ได้จากกระบวนการหมัก มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน องค์ประกอบหลักคือกรดอะซิติก (acetic acid) สูตรทางเคมีคือ CH3COOH มีความเข้มข้นของกรดตั้งแต่ 4% -8% และอาจพบมากถึง 18% ส่วนในน้ำยาล้างห้องน้ำ โดยทั่วไปประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด แต่สารเคมีหลัก ๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ช่วยลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้น้ำสามารถเกาะติดกับพื้นผิวได้ดีขึ้น ช่วยละลายคราบสกปรก และทำให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
- สารกัดกร่อน (Corrosive Agent) ช่วยขจัดคราบสกปรกที่ฝังแน่น เช่น คราบหินปูน คราบสนิม โดยทั่วไปจะเป็นกรด เช่น กรดไฮโดรคลอริก หรือกรดฟอสฟอริก
- สารฆ่าเชื้อโรคและขจัดคราบสกปรก ส่วนใหญ่จะเป็นสารฟอกขาวโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) และ ไฮโดรเจนเปอร็อกไซด์ (hydrogen peroxide)
- สารปรับกลิ่น (Fragrance) ช่วยให้ห้องน้ำมีกลิ่นหอมสดชื่น
- สารแต่งสี (Color) ทำให้น้ำยาล้างห้องน้ำมีสีสันที่น่าสนใจ
การผสมน้ำส้มสายกับน้ำยาล้างห้องน้ำอาจทำให้เกิดก๊าซพิษและสารพิษอันตรายต่อชีวิตได้ ในกรณีที่น้ำยาล้างห้องน้ำมีส่วนประกอบของสารฟอกขาวโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) หรือไฮโดรเจนเปอร็อกไซด์ (hydrogen peroxide) ดังนี้
- การผสมน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) กับน้ำส้มสายชูที่เป็นกรดอะซิติก (CH3COOH) ทำให้เกิดก๊าซคลอรีน (Cl2) ซึ่งเป็นก๊าซพิษ หากสูดดมเข้าไปปริมาณน้อยจะทำให้มีอาการระคายเคืองเยื่อบุตา เยื่อบุโพรงจมูก ทางเดินหายใจและลำคอ แสบจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เวียนหัว น้ำตาไหล ไอ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น และหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมปอดและภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพบภาวะขาดออกซิเจนและภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
- การผสมน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนประกอบของ ไฮโดรเจนเปอร็อกไซด์ (hydrogen peroxide) กับน้ำส้มสายชูที่เป็นกรดอะซิติก (CH3COOH) จะทำให้ได้กรดเปอร์อะซิติก (CH3COOOH) ที่เป็นพิษและก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจได้ อีกทั้งยังมีฤทธิ์กัดกร่อนพื้นผิววัสดุอีกด้วย
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำโดยทั่วไปจะใช้กรดเกลือหรือชื่อทางเคมีว่ากรดไฮโดรคลอริก (HCl) ซึ่งในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำจะมีกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 15 โดยน้ำหนัก กรดไฮโดรคลอริกในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัส การหายใจและการรับประทานหรือกลืนกิน โดยทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ไอระเหยหรือละอองไอของกรดไฮโดรคลอริกแม้ในปริมาณน้อย ๆ ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองตาได้ ทำให้ตาแดง ในความเข้มข้นสูง ๆ ทำให้เกิดแผลไหม้หรือตาบอดได้ การสูดดมไอระเหยของกรดไฮโดรคลอริกทำให้เกิดฤทธิ์กัดกร่อนระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่แสบจมูก ลำคอ ไปจนถึงหายใจลำบากได้ ถ้าสูดดมในปริมาณสูง ๆ เป็นเวลานานอาจทำให้เป็นแผลไหม้ มีแผลอักเสบที่จมูกและลำคอ ปอดบวมน้ำและหายใจลำบากได้