จากกรณีที่มีคลิปบนโลกสื่อออนไลน์ให้ข้อมูลเรื่องนอนหลับหลัง 4 ทุ่ม อันตรายต่อสุขภาพ และมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
ในขณะที่เราหลับ นอกจากสมองจะผลิต Growth Hormone ออกมาแล้ว ยังมีการผลิตสารเมลาโทนิน (Melatonin) ที่นอกจากจะช่วยให้เราหลับสนิทแล้ว สารนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งสารเมลาโทนินนี้ถูกสร้างมากที่สุดในเวลากลางคืนขณะหลับสนิทและห้องมืดสนิท ขณะเดียวกัน หากเรานอนดึก ตื่นสาย สารเซโรโตนิน (Serotonin) หรือสารที่ทำให้เรามีความสุขสดชื่นตลอดทั้งวันก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้เกิดอาการเบื่อหน่าย อ่อนเพลียและเป็นโรคซึมเศร้าได้ หากนอนไม่ครบ 8 ชม. ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเลปติน (Leptin) น้อยลง ซึ่งสารตัวนี้มีบทบาทในการควบคุมความอยากอาหาร ดังนั้นหากอดนอนจะทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้เราอ้วนได้ อีกทั้งยังทำให้ภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ลดลง ระบบความทรงจำก็จะมีประสิทธิภาพลดลงด้วย เพราะ Hippocampus ส่วนประกอบสำคัญของสมองที่ทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลการเรียนรู้ระหว่างวันเข้าสู่ความทรงจำระยะยาว ซึ่ง Hippocampus จะทำงานได้ดีที่สุดตอนที่เราหลับเท่านั้น
ในช่วงเวลาที่เรานอนหลับ ภายในร่างกายของเราจะช่วยกันทำงานที่ซับซ้อน อย่างเช่น การควบคุมหัวใจ ความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่นิ่งไม่แกว่งขึ้นลงง่ายเหมือนตอนเราตื่น นอกจากนี้เมื่อหลับสนิท ตับ ไต ลำไส้ ก็จะทำงานได้ดีขึ้น สังเกตได้ว่าหากคนอดนอนอาจจะมีปัญหาท้องผูก หน้าตาหม่นหมอง ไม่สดชื่น ที่สำคัญสุขภาพไม่ดี นั่นเพราะส่วนหนึ่งมาจากพิษของการนอนดึกด้วย ฉะนั้นหากนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอก็เปรียบเสมือนการได้ล้างพิษไปในตัว
สรุปได้ว่า การเข้านอนเร็วก่อนสี่ทุ่มและตื่นเช้า จะช่วยทำให้นาฬิกาชีวิตของเราเดินอย่างสมดุล ไม่เร็วจนเกินไป หรือช่วยชะลอวัยได้ เพราะช่วงเวลาของการนอนหลับเปรียบเสมือนช่วงเวลาที่ได้รับรางวัลจากธรรมชาติ หากใครสามารถเข้านอนได้ตามเวลา หลับสนิทเต็มอิ่ม ผลที่ได้ก็คือสุขภาพที่ดีจนรู้สึกได้
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02-306-9899