ตามที่มีข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นเรื่องข้าราชการตุลาการ มีบ้านพักบนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากการโพสต์ข้อความระบุถึงข้าราชการตุลาการ มีบ้านพักบนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า พื้นที่บ้านพักตุลาการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ (ชั้นต้น) มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 148/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 152/2561 หรือ “คดีป่าแหว่ง” โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า กรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดี) อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม (ผู้ร้องสอด) ใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ชม.1732 (บางส่วน) ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล บ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลปกครองเชียงใหม่ วินิจฉัยแล้วสรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พื้นที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว อยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดอยสุเทพ และนอกแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาท เป็นอำนาจของกรมธนารักษ์
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท แม้มีสภาพเป็นป่าที่ลาดเชิงเขา บางส่วนเป็นที่สูงชันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ลุ่มน้ำปิง-วัง) แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมิได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาท จึงไม่อยู่ใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้วแต่กรณี
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.portal.dnp.go.th หรือโทร. 025610777
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : พื้นที่บ้านพักตุลาการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมิได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาท จึงไม่อยู่ใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504