จำนวนผู้เข้าชม 29,204,317

ข่าวปลอม อย่าแชร์! แผ่นแปะเท้า เพิ่มความสูง 10 – 15 เซนติเมตร

ตามที่ได้มีคำแนะนำชวนเชื่อเรื่อง แผ่นแปะเท้า เพิ่มความสูง 10 – 15 เซนติเมตร ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีชวนเชื่อวิธีการเพิ่มความสูงด้วยแผ่นแปะเท้า ที่ให้ผลเพิ่มความสูงได้ถึง 10 – 15 เซนติเมตร ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า เป็นการอวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง ในทางการแพทย์ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนได้ว่าแผ่นแปะเพิ่มความสูงสามารถเพิ่มความสูงได้จริง ซึ่งความสูงของแต่ละบุคคลมาจากพันธุกรรม เป็นปัจจัยสำคัญร่วมกับการได้รับสารอาหาร ออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง ร่างกายของเราจะหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งจะแตกต่างกันเล็กน้อยในเพศหญิงและเพศชาย โดยผู้หญิงจะหยุดสูงที่อายุประมาณ 16 – 18 ปี ขณะที่ผู้ชายหยุดสูงที่อายุประมาณ  18 – 20 ปี หลังจากวัยนี้ความสูงของเราก็จะหยุดลง หรือเป็นไปได้น้อยมากที่จะสูงขึ้นได้ ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ไม่สามารถเพิ่มความสูงได้อีก

ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่เพิ่มความสูงได้คือช่วงที่กระดูกยังอยู่ในช่วงที่มีการเจริญเติบโต โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
1. รับประทานอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะสารอาหารที่จะช่วยเพิ่มความสูงได้ เช่น โปรตีน หรือแคลเซียม โปรตีนมีอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อ นม ไข่ และแคลเซียมมีอยู่ในนมหรือผักใบเขียว ปลาตัวเล็ก
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. พักผ่อนอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ โดยควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 8 – 10 ชั่วโมง และควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม เนื่องจากร่างกายจะผลิตโกรทฮอร์โมนที่ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตในขณะนอนหลับ

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร. 1556

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เป็นการอวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง ในทางการแพทย์ยังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนได้ว่าแผ่นแปะเพิ่มความสูงสามารถเพิ่มความสูงได้จริง ซึ่งเมื่อผ่านช่วงอายุของวัยเจริญเติบโตแล้วความสูงจะหยุดลง ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็เป็นไปได้น้อยมากที่จะสูงขึ้น

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด