ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน เสี่ยงสมองเสื่อมเบลอ หลับยาก เพราะแสงสีฟ้าทำลายเมลาโทนิน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน เสี่ยงสมองเสื่อมเบลอ หลับยาก เพราะแสงสีฟ้าทำลายเมลาโทนิน ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า แสงไม่ว่า คลื่นความถี่ใด มีผลกับการควบคุม circadian rhythm หรือที่นิยมเรียกกันว่า
นาฬิกาชีวิต โดยความมืดทำให้ต่อมไพเนียลผลิตเมลาโทนิน และแสงสว่างทำให้
ผลิตเมลาโทนินน้อยลง การศึกษาในอดีตพบว่า แสงสีฟ้าเป็นแสงที่มีช่วงความถี่ที่มีผลลดการหลั่งเมลาโทนินมากกว่าแสงสีอื่น ซึ่งแหล่งแสงสีฟ้าที่สำคัญ เช่น smart phone, tablet, โทรทัศน์ แสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ แสงจากหลอดไฟ LED และจอคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า การเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน หรือแสงสีฟ้าทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสามารถติดตามข่าวสารของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02-306-9899
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ความมืดทำให้ต่อมไพเนียลผลิตเมลาโทนิน และแสงสว่างทำให้ผลิตเมลาโทนินน้อยลง ซึ่งแสงสีฟ้าจากโทรศัพท์ โทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ เป็นแสงที่มีช่วงความถี่ที่มีผลลดการหลั่งเมลาโทนินมากกว่าแสงสีอื่น แต่ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า การเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน หรือแสงสีฟ้าทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม