จำนวนผู้เข้าชม 29,135,981

กินลูกเนียงดิบ เสี่ยงไตวาย

ลูกเนียง (Djenkol bean) เป็นผักที่นิยมกินโดยเฉพาะภาคใต้ของไทย ส่วนที่นำไปรับประทาน คือ เมล็ดข้างในเปลือก มีกลิ่นฉุน รสชาติมัน รับประทานได้ทั้งผลอ่อนและแก่ ในด้านความเป็นพิษลูกเนียงมีสาร ที่เรียกว่า “กรดเจงโคลิค (djenkolic acid)” เป็นกรดอะมิโนที่มีกรดกำมะถันสูง สารพิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาทของไตให้เสื่อมลง หากอาการรุนแรงจะทำให้ไตล้มเหลวหรือไตวายจนถึงเสียชีวิตได้

ความเป็นพิษจากลูกเนียงโดยทั่วไปพบได้น้อย โดยรายที่มีอาการมักสัมพันธ์กับการกินลูกเนียงดิบปริมาณมากร่วมกับการดื่มน้ำน้อย ปริมาณที่ทำให้เกิดพิษนั้นมีรายงานตั้งแต่ 1-20 เมล็ด พบว่ามีอาการทางไต ปวดเอว ปวดบริเวณขาหนีบ ปัสสาวะลำบาก น้ำปัสสาวะขุ่นเป็นสีน้ำนม และอาจปัสสาวะเป็นเลือด บางรายมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่รุนแรงอาจปัสสาวะไม่ออก ซึ่งเรียกว่า นิ่ว และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง 3-4 วัน บางรายมีไข้ต่ำ ปัสสาวะน้อยและมีความดันโลหิตสูงได้

ลูกเนียงดิบ

ดังนั้นจึงแนะนำให้ระมัดระวังในการรับประทานลูกเนียง โดยวิธีการลดพิษในลูกเนียงให้น้อยลง คือ นำเมล็ดไปเพาะในทราย ให้มีหน่อต้นอ่อนงอกออกมา หรือนำเมล็ดไปต้มให้สุก หรือหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำไปตากแดดก่อนรับประทานโดยตรง หากมีอาการสงสัยอาหารเป็นพิษจากลูกเนียง หรือหลังกินแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน มึนงง ให้รีบไปพบแพทย์และบอกประวัติการกินอาหารที่สงสัยให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อให้การรักษาถูกต้องและทันเวลา

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด