จำนวนผู้เข้าชม 29,190,264

อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว เพิ่มโทษปรับ 10 เท่า 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานกว่า 17 ปีแล้ว ซึ่งมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพได้ กระทรวง พม. จึงมอบหมายให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ผ่านกลไกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว เพิ่มโทษปรับ 10 เท่า 

ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสำคัญหลักในการแก้ไขเพิ่มเติมบางบทนิยามให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ดังนี้

  1. บทนิยามคำว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” ให้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการล่วงเกินหรือคุกคามทางเพศ และการกระทำใด ๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ รวมถึงความเสียหายต่อชื่อเสียง
  2. บทนิยามคำว่า “บุคคลในครอบครัว” ให้มีความหมายครอบคลุมไปถึงคู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินด้วยกันหรือเคยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้ที่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ฉันคู่สมรส ตลอดจนคู่รักที่แสดงออกต่อบุคคลทั่วไปหรือที่มีความผูกพันลึกซึ้งทางจิตใจต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่เกิดจากการรับไว้อุปการะเลี้ยงดูอย่างบุตร หรือเป็นบุคคลที่มีความผูกพันกันลึกซึ้งทางจิตใจต่อกัน แม้ไม่มีความเกี่ยวพันกันทางเครือญาติ
  3. บทนิยามคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” ให้รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่นด้วย เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำได้อย่างทันท่วงที
  4. เพิ่มอัตราโทษปรับในความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว จากเดิมปรับไม่เกิน 6,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 60,000 บาท
  5. ให้ศาลลงโทษหนักขึ้น หากผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวมีการกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี หรือการกระทำความรุนแรงในครอบครัวต่อเด็ก
  6. ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือจะมีการกระทำผิดซ้ำสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ
  7. ขยายระยะเวลาร้องทุกข์จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน
  8. กำหนดเหตุลดโทษ หากปรากฏข้อเท็จจริงทางการแพทย์ว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำไปเพราะตนเองหรือบุคคลในครอบครัวของตนถูกกระทำด้วยความรุนแรงหรือถูกกระทำโดยมิชอบซ้ำกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง (Batterd Person Syndrome)
  9. กำหนดให้การแก้ไขความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ดำเนินการโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ
  10. เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล (ครน.) ครั้งที่ 5/2568

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด