เชื่อหรือไม่ว่า เยาว์แดงหรือสบู่แดง ช่วยรักษาโรคปอด และรักษาหลอดลมได้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า มีการตรวจพบองค์ประกอบทางเคมีต่าง ๆ ในสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของสมุนไพรสบู่แดง ได้แก่ กรดไขมัน น้ำตาล อัลคาลอยด์ กรดอะมิโน คูมาริน สเตียรอยด์ ฟลาโวนอยด์ ลิกแนน โปรตีน ซาโปนิน แทนนิน และเทอร์พีนอยด์
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
– ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ลดความดันโลหิต (Antihypertensive activity)
– ต้านมะเร็ง (Anticancer activity)
– ต้านจุลชีพ (Antimicrobial activity)
– ช่วยสมานแผล (Wound healing activity)
– ต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory activity)
– บรรเทาปวด (Analgesic activity)
สำหรับการศึกษาฤทธิ์การขยายตัวของหลอดลมในหนูตะเภา พบว่า การใช้ลำต้นที่สกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการหดตัวของหลอดลม หลังได้รับฮีสตามีน/อะซิติลโคลีน ส่งผลให้มีการหดตัวของหลอดลม หลังจากตอบสนองจากสารกระตุ้น 2-3 ครั้ง จึงให้ยาต้มลำต้นสบู่แดงทางหลอดเลือดดำ (ปริมาณ 1-1.5 มล.) และฉีดฮิสตามีน/อะซิติลโคลีนซ้ำทุก ๆ 6 นาที และสังเกตการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป 30 นาที โดยการประเมินหดตัวของหลอดลมจะถือว่า มีประสิทธิผลเป็นบวก เมื่อคำนวณอัตราการยับยั้งการหดเกร็งของหลอดลม และความดันในหลอดลม มีค่ามากกว่า 50% ผลการทดสอบพบว่า น้ำต้มสบู่แดงไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการหดตัวของหลอดลม
แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการทดลองทางคลินิก (clinical trials) ในมนุษย์ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ในทางการแพทย์พื้นบ้าน เพื่อค้นหาสาระสำคัญที่มีศักยภาพในการรักษาโรค และศึกษาทางคลินิกต่อไป
ข่าวนี้บิดเบือน อย่าหลงเชื่อข้อมูลที่ผิด