เช็กก่อนจะกดแชร์ หลังจากมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตระบุว่า NASA เตือนภัย เตรียมรับมือพายุสุริยะ คาดทำระบบเน็ตล่มนานนับเดือน ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ระบุว่า NASA เตือนภัย เตรียมรับมือพายุสุริยะ คาดทำระบบเน็ตล่มนานนับเดือน ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า เป็นความจริง โดยในส่วนของหลุมโคโรนาบนดวงอาทิตย์ (Coronal hole, CH) หมายเลขที่ 11 และ 12 หรือ CH11 และ CH12 ซึ่งหลุมนี้อยู่ตรงกลางค่อนมาทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ มีแนวโน้มว่า จะมีลมสุริยะผ่านมายังโลก ซึ่งอาจจะมีผลกระทบเข้ามาต่อสนามแม่เหล็กโลกในระดับไม่รุนแรงในระดับ G1-G2 ในระหว่างวันที่ 31 ม.ค 68 – 1 ก.พ 68 ทั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรง จนถึงขั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตล่มแต่อย่างใด
ถึงแม้ว่าในช่วงปี 2567-2568 จะถือเป็นช่วงสูงสุด (peak) ของรอบวัฏจักรสุริยะ (Solar cycle) รอบที่ 25 โดยพายุสุริยะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และแนวโน้มวัฎจักรสุริยะในรอบนี้ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา นอกจากนี้ โลกมีสนามแม่เหล็กโลกและชั้นบรรยากาศปกป้องสิ่งมีชีวิตจากรังสีและอนุภาคพลังงานสูง พายุสุริยะอาจมีผลกระทบต่อระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมหรือสัญญาณ GPS บ้าง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนรับมือและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว ปัจจุบันหลายประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยหน่วยงานด้านอวกาศ (NASA) สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และในประเทศไทย โดย GISTDA มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการคาดการเหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรสนามแม่เหล็ก (Equatorial region) ได้รับการปกป้องจากสนามแม่เหล็กโลกสูง อย่างไรก็ตาม GISTDA โดยการวิเคราะห์ด้วยระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ หรือ jasper มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจากข้อมูลต่างประเทศและข้อมูลตรวจวัดในประเทศ หากมีความเสี่ยงและมีผลกระทบต่อประเทศไทย GISTDA จะดำเนินการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยทันที เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบกับประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ก่อนตื่นตระหนก อย่างไรก็ดี การเกิดปรากฏการณ์ Geomagnetic storm หรือพายุสนามแม่เหล็กนั้นนั้น ก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ-แสงใต้ (Aurora) ที่เกิดขึ้นอย่างสวยงามในหลายพื้นที่ที่อยู่ห่างจากขั้วโลก เช่น สหรัฐอเมริกาเหนือและยุโรปเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากอนุภาคสุริยะที่ปะทะกับชั้นบรรยากาศโลก ดังที่ประชาชนบริเวณดังกล่าวได้เห็นกันอย่างชัดเจนในช่วงเดือน พฤษภาคม และ ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
ซึ่งขณะนี้หน่วยงานอวกาศและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ทำงานร่วมกัน ในการติดตามและคาดการณ์สภาพอวกาศ (Space weather) เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า และมาตรการป้องกันเพื่อปกป้องเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมของมนุษย์จากผลกระทบของสภาพอวกาศ และที่สำคัญ สิ่งที่ประชาชนควรทราบคือการมี awareness (ความตระหนักรู้) แต่ไม่ตื่นตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ตรวจสอบให้ดี ข้อมูลนี้เชื่อถือได้