จำนวนผู้เข้าชม 29,209,284

ข่าวปลอม อย่าแชร์! สคช. แถลงการณ์ ปปง. ยึดทรัพย์สินคืนจากแก๊งคอลเซนเตอร์ได้ เปิดให้เหยื่อยื่นเรื่องขอรับทรัพย์สินคืน

ตามที่มีข่าวสารเกี่ยวกับเรื่อง สคช. แถลงการณ์ ปปง. ยึดทรัพย์สินคืนจากแก๊งคอลเซนเตอร์ได้ เปิดให้เหยื่อยื่นเรื่องขอรับทรัพย์สินคืน ศูนย์คุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชน ขอรับเงินคืน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

การส่งต่อข้อมูลที่ระบุว่า สคช. แถลงการณ์ ปปง. ยึดทรัพย์สินคืนจากแก๊งคอลเซนเตอร์ได้ เปิดให้เหยื่อยื่นเรื่องผ่านเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์คุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชน ขอรับเงินคืนทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เพจดังกล่าวเป็นเพจปลอมที่จัดทำขึ้นโดยมิจฉาชีพ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ตุลาคม 2566-กรกฎาคม 2567) สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มูลค่ากว่า 25,631 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ารวมของการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดทุกมูลฐาน (28 มูลฐาน เช่น พนันออนไลน์ ยาเสพติด เป็นต้น) ไม่ใช่การยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินจากเเก๊งคอลเซนเตอร์เพียงอย่างเดียว และได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานจำนวนประมาณ 5,288 ล้านบาท ไม่ใช่ขอให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน จำนวนประมาณ 12,000 ล้านบาท ตามที่โพสต์ดังกล่าวอ้างแต่อย่างใด

กรณีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายฯ ของสำนักงาน ปปง. ผู้ยื่นคำร้องต้องมีสถานะเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่ระบุจึงจะมีสิทธิยื่นคำร้อง เมื่อสำนักงาน ปปง. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องแล้ว ผู้ยื่นคำร้องต้องพิจารณาว่า พฤติการณ์กระทำความผิดมูลฐานตามที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. นั้น ตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยพิจารณาจาก

1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ระบุไว้ในประกาศฯ
2. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับช่วงเวลาที่มีการกระทำผิดที่ระบุไว้ในประกาศฯ
3. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเลขคดีอาญารับคำร้องทุกข์ของพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในประกาศฯ
4. ในคดี Call Center มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชื่อบัญชีหรือเลขที่บัญชีธนาคารที่ระบุไว้ในประกาศฯ ตรงกับชื่อบัญชีหรือเลขที่บัญชีธนาคารที่ผู้เสียหายได้โอนเงินไป หรือไม่ (ตรวจสอบได้จากสลิปการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสอบถามจากธนาคารที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้ ฯลฯ)

ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงของผู้เสียหายตรงกับข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. แล้วย่อมถือว่า เป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงกับประกาศแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องในคดีนั้นได้

ช่องทางการยื่นคำร้อง มี 3 ช่องทาง ได้แก่
1. ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
2. ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
3. ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (จะมีการระบุไว้ในประกาศฯ) ซึ่งตามประกาศของสำนักงาน ปปง. กำหนดช่องทางการยื่นคำร้อง มี 3 ช่องทางดังที่กล่าวข้างต้นนี้เท่านั้น มิได้กำหนดให้ยื่นเอกสารทางอีเมลแต่อย่างใด

ขอรับเงินคืน

ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://www.amlo.go.th/index.php/th/ หรือ โทร. 02-219-3600

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เพจดังกล่าวเป็นเพจปลอมที่จัดทำขึ้นโดยมิจฉาชีพ การยื่นคำร้องฯ เพื่อขอรับเงินคืนผู้ยื่นคำร้องต้องมีสถานะเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามที่สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเท่านั้น และไม่สามารถยื่นคำร้องผ่านเพจเฟซบุ๊ก หรือ อีเมลได้

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด