จำนวนผู้เข้าชม 29,189,319

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัทผู้ผลิตในเอเชีย ไม่สามารถจดทะเบียนได้

ตามที่มีข้อมูลปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัทผู้ผลิตในเอเชีย ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการโพสต์ให้ข้อมูลโดยระบุว่า เตือนภัยประชาชนที่ซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัทผู้ผลิตในเอเชีย ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นการขออนุญาตใช้รถต่อนายทะเบียน โดยรถที่จะนำมาจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าได้นั้น ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถถูกต้องตามที่กฎกระทรวง และตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนด ต้องมีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าและความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดให้รถยนต์หรือรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ได้แก่

1. รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด
2. รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน
3. รถยนต์บริการธุรกิจ
4. รถยนต์บริการทัศนาจร
4. รถยนต์บริการให้เช่า
6. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
7. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
8. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
9. รถยนต์ 4 ล้อเล็กรับจ้าง
ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุด ไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก ได้แก่
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
รถยนต์ 4 ล้อเล็กรับจ้าง
ที่มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าหรือความเร็วสูงสุดไม่เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ในส่วนของรถยนต์รับจ้าง 3 ล้อ และรถยนต์ 3 ล้อส่วนบุคคล ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการขอรับรองแบบรถกับกรมการขนส่งทางบกก่อนดำเนินการจดทะเบียน เพื่อให้ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเมื่อแบบรถที่ต้องการจดทะเบียนได้รับการรับรองและส่งบัญชีเรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถนำรถคันที่ต้องการจดทะเบียนเข้ารับการตรวจสภาพรถจากนายทะเบียน หรือจากสถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบ หมายเลขระบบส่งกำลัง หมายเลขตัวถัง ลักษณะ ขนาด สัดส่วน ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งปัจจุบัน (เดือนเมษายน 2565) มีรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมแล้วทั้งสิ้น 15,474 คันดังนั้น รถไฟฟ้าที่จะจดทะเบียนได้ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด และได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกก่อนจึงจะจดทะเบียนได้ ทั้งรถที่ใช้น้ำมันและไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ารถเพื่อมาใช้งานในกิจการที่แตกต่างกันไป ก่อนตัดสินใจซื้อรถ จึงควรสอบถามผู้ขายก่อนว่าสามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อวิ่งใช้งานบนถนนสาธารณะได้หรือไม่

website 1709

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และหากพบผู้ใดแอบอ้างอาสาดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ สามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมการขนส่งทางบกได้โดยตรง หรือโทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dlt.go.th หรือโทร. 02 271 8888

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : สามารถจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าได้ แต่ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถถูกต้องตามที่กฎกระทรวง และตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนด

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด