ความเป็นมาของวันเข้าพรรษานั้น เริ่มขึ้นในสมัยพุทธกาล เมื่อถึงฤดูฝนมักเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ผู้ที่สัญจรไปมาระหว่างเมือง เช่น พวกพ่อค้า ก็หยุดเดินทางไปมาชั่วคราว และบุคคลลัทธินอกศาสนา (ทั้งเดียรถีย์และปริพาชก) ต่าง ๆ ก็หยุดพัก ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดฤดูฝน ทั้งนี้ เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทางเป็นหลุมเป็นโคลน เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จเดินทางเผยแพร่พระศาสนาเป็นพุทธจริยาวัตร และในตอนแรกที่ยังมีพระภิกขุสงฆ์ไม่มาก พระภิกขุสงฆ์ก็ได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า คำครหานินทาใด ๆ ยังไม่เกิดขึ้นจึงไม่ต้องทรงตั้งบัญญัติพิธีอยู่จำพรรษา
ครั้นพอพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปกว้าง พระภิกขุสงฆ์ได้เพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ไปเหยียบย่ำข้าวกล้า และสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้เกิดความเสียหายและตายไป ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า ทำไมพระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ตลอดจนสัตว์ทั้งหลายตายจำนวนมาก เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ห้ามมิให้พระภิกษุเที่ยวไปค้างคืนที่อื่น เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว