อย่าเพิ่งเชื่อข้อมูลว่า เขื่อนลำตะคองวิกฤติ เหลือน้ำแค่ 14% ด้านกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยแล้วว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ปัจจุบัน (24 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 59.01 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 18% ของความจุเก็บกัก คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การ 36.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามที่ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เพียง 81 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต่ำสุดในรอบ 56 ปี ส่งผลให้ เริ่มต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 มีปริมาณน้ำในอ่าง 103 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 33% ของความจุอ่างฯ (ความจุอ่างฯ 314 ล้าน ลบ.ม.)
สำนักงานชลประทานที่ 8 โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้มีการวางแผนการใช้น้ำ ช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 (1 พฤศจิกายน 2567 – 30 เมษายน 2568) ไว้ที่จำนวน 73 ล้าน ลบ.ม. (อุปโภค-บริโภค = 35 ล้าน ลบ.ม. รักษา
ระบบนิเวศ = 25 ล้าน ลบ.ม. เกษตรพืชใช้น้ำน้อย = 7 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม = 6 ล้าน ลบ.ม.)
ในด้านผลการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 67/68 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 30 เมษายน 2568 ได้บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต จากแผนที่วางไว้ตลอดฤดู 73 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำถึงปัจจุบันเพียง 40.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือ
ปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีกจำนวน 14.97 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดการณ์ปริมาณน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้งปี 2567/68 ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 คาดว่า จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประมาณ 54 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 17% ของความจุเก็บกัก คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การ 31.28 ล้านลูกบาศก์เมตร
จากศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขอยืนยันได้ว่า มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ตลอดฤดูแล้งอย่างแน่นอน และได้มีการกำชับให้มีการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างประณีต
ข่าวนี้บิดเบือน AFNC ตรวจสอบให้แล้ว