ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องหอเตือนภัยสึนามิ กมลาส่งเสียงเตือนภัยเมื่อเวลา 03.45 น. ในวันที่ 27 เม.ย. ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกองเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานกรณีมีเสียงสัญญาณหอเตือนภัยดังในหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 เวลาประมาณ 03.30 น. ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ตื่นตระหนก ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีหอเตือนภัยจำนวน 25 แห่ง ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้ส่งสัญญาณเสียงทดสอบ ได้แก่
1. จังหวัดพังงา จำนวน 2 แห่ง ที่บ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า และโล๊ะปาเหรก หมู่ 7 ตำบลพรุ อำเภอเกาะยาว
2. จังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 แห่ง ที่ (1) หาดกะตะ (2) หาดกมลา อำเภอกะทู้ (3) บริเวณโรงแรมดุสิตลากูน่า อำเภอถลาง
3. จังหวัดระนอง จำนวน 3 แห่ง ที่ (1) ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ (2) ตำบลม่วงกลาง อำเภอกะเปอร์ (3) บ้านอ่าวเคย ตำบลม่วงกลวง อำเภอสุขสำราญ
4. จังหวัดสตูล จำนวน 1 แห่ง ที่หมู่ 3 บ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู
5. จังหวัดนราธิวาส จำนวน 1 แห่ง ที่หมู่ 12 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส
6. จังหวัดกระบี่ จำนวน 3 แห่ง ที่ (1) บ้านเกาะกวาง ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง (2) เกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง และ (3) แหลมโพธิ์ ตำบลไสยไทย อำเภอเมืองกระบี่
7. จังหวัดชุมพร จำนวน 1 แห่ง ที่บ้านปากน้ำละแม หมู่ 1 ตำบลละแม อำเภอละแม
8. จังหวัดชลบุรี จำนวน 5 แห่ง ที่ตำบลท่าเทววงษ์ อำเภอเกาะสีชัง (1) วัดถ้ำยายปริก (2) สนามฟุตบอล หมู่ 1 (3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 262 หมู่ 60 (4) หาดถ้ำพัง หมู่ 3 (5) ศาลาบ่อน้ำ หมู่ 3 ตำบลท่าเทววงษ์
9. จังหวัดเชียงราย จำนวน 1 แห่ง ที่บ้านหินแตก ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง
10. จังหวัดพัทลุง จำนวน 1 แห่ง ที่บ้านเขาคราม หมู่ 10 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์
11. จังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 1 แห่ง ที่ อบต.วังปลาป้อม อำเภอนาวัง
12. จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 1 แห่ง ที่ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค
13. จังหวัดปัตตานี จำนวน 1 แห่ง ที่ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง
14. จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 แห่ง ที่ ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า
1) หอเตือนภัยที่ส่งสัญญาณดังนั้นเป็นหอขนาดใหญ่ที่รับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้กดส่งสัญญาณเตือนภัยทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ออกไปแต่อย่างใด เนื่องจากการเข้าใช้ระบบการส่งสัญญาณเตือนภัยนั้นต้องมีการเข้ารหัส 2 ชั้น จึงจะสามารถกดปุ่มส่งสัญญาณไปยังหอเตือนภัยได้ และความผิดปกติกรณีนี้เป็นเหตุที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
2) จากการตรวจสอบอุปกรณ์เบื้องต้น บริษัทผู้ดูแลระบบได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหอเตือนภัยบางแห่ง ไม่พบความผิดปกติของอุปกรณ์ และจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทุกหอเตือนภัยที่มีเสียงสัญญาณดังขึ้นต่อไป และจากการตรวจสอบบันทึกการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ (Log File) ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
3) ปภ.ได้ให้บริษัทผู้ดูแลระบบการแจ้งเตือนภัยทำการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ ซึ่งบริษัทได้ประสานไปยังผู้ให้บริการดาวเทียมที่อยู่ต่างประเทศเพื่อตรวจสอบข้อมูลการรับ-ส่งสัญญาณไปยังดาวเทียม ซึ่งจะได้รับรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องในวันพรุ่งนี้ (28 เมษายน 2566)
4) ปภ.ได้ประชุมเร่งด่วนกับจังหวัดและศูนย์ ปภ.เขต ที่มีหอเตือนภัย และได้แจ้งให้ ปภ.จังหวัดและศูนย์ ปภ.เขตในพื้นที่ที่หอเตือนภัยส่งสัญญาณลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความตื่นหนกของประชาชนในพื้นที่
5) สำหรับการปฏิบัติงานของระบบแจ้งเตือนภัยในส่วนกลาง ปภ.ได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบการเข้าใช้ระบบของหอเตือนภัยว่ามีความผิดปกติจากภายนอกหรือไม่
ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง สาเหตุ และแก้ไขข้อบกพร่องให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกองเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สามารถติดตามได้ที่ http://relation.disaster.go.th/in.PRDPM-7.53/ หรือโทร 0 2637 3455