ตามที่มีการแชร์ต่อกันในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องสภากาชาดเปิดรับบริจาคเลือดฟรีแต่ รพ. รัฐฯ คิดค่าบริการถุงละ 2,100 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสภากาชาดไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีที่มีผู้โพสต์และแชร์ข้อมูลว่า สภากาชาดเปิดรับบริจาคเลือดฟรีแต่ รพ. รัฐฯ คิดค่าบริการถุงละ 2,100 บาท ทางสภากาชาดไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ไม่ได้จำหน่ายโลหิตบริจาค แต่มีการคิดค่าบริการตามต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมโลหิตให้มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ต้องรับโลหิตในการรักษา โดยกำหนดค่าบริการโลหิตให้โรงพยาบาลเป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน มีการใช้อัตราค่าบริการจากกรมบัญชีกลาง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะมีการคิดค่าใช้จ่ายตามต้นทุนในการจัดเตรียมโลหิตให้กับผู้ป่วยเพิ่มเติม ตามอัตราที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด โดยค่าบริการที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในกระบวนการ ดังนี้
1. ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในการรับบริจาคโลหิต เช่น ถุงบรรจุโลหิต หลอดเก็บตัวอย่าง
โลหิต น้ำยาตรวจค่าความเข้มข้นเลือด น้ำยาตรวจหมู่เลือด เป็นต้น
2. ค่าใช้จ่ายการผลิตส่วนประกอบโลหิต ในการปั่นแยกโลหิตให้เป็นส่วนประกอบโลหิตชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดงเข้มข้น (Packed red cells) พลาสมา (Plasma) เกล็ดเลือด (Platelets) เป็นต้น
3. ค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ค่าตรวจหมู่โลหิตเอบีโอ (ABO) ค่าตรวจหมู่โลหิตระบบอาร์เอช (Rh) ค่าตรวจกรองแอนติบอดี (Antibody screening) ค่าตรวจภาวะการติดเชื้อที่สามารถติดต่อทางการให้เลือด ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสเอชไอวี และซิฟิลิส โดยการตรวจวิเคราะห์ทางซีโรโลยี และวิธี Nucleic Acid Test (NAT)
4. ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาส่วนประกอบโลหิตชนิดต่างๆ และการขนส่ง เช่น ตู้เย็นเก็บเม็ดเลือดแดง 1-6 องศาเซลเซียส ตู้เก็บเกล็ดเลือด 20-24 องศาเซลเซียสที่ต้องเขย่าตลอดเวลา ตู้แช่แข็งพลาสมา -20 องศาเซลเซียส เป็นต้น อีกทั้งต้องรักษาอุณหภูมิของส่วนประกอบโลหิตชนิดต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน Blood cold chain ตลอดระยะเวลาขนส่งจากต้นทางจนถึงปลายทาง
5. ค่าใช้จ่ายในการควบคุมคุณภาพ ตามระบบ ISO และ GMP ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับอัตราค่าบริการโลหิตจะถูกกำหนดโดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะนำมาเทียบเคียงให้เทียบเท่าหรือต่ำกว่าเกณฑ์กลางตามความเหมาะสมกับการบริการโลหิตทุกประเภท นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายด้านอาคารสถานที่ รถออกหน่วยเคลื่อนที่ เครื่องมือครุภัณฑ์ บุคลากรสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและค่าดำเนินการสนับสนุนอื่น ๆ ที่รวมแล้วจะสูงกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บ โดยส่วนที่ขาดศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะรับผิดชอบทั้งหมด ประกอบกับได้รับงบประมาณดำเนินการบางส่วนจากรัฐบาลมาช่วยเหลือ
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสามารถติดตามข่าวสารของสภากาชาดไทย ได้ที่เว็บไซต์ www.redcross.or.th หรือโทร. 1664
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ไม่ได้จำหน่ายโลหิตบริจาค แต่มีการคิดค่าบริการตามต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมโลหิตให้มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ต้องรับโลหิตในการรักษา โดยกำหนดค่าบริการโลหิตให้โรงพยาบาลเป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน