ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลเรื่อง ปปง. เปิดให้ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยื่นคําร้องขอคุ้มครองสิทธิ เพื่อขอรับเงินคืนได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากที่มีผู้โพสต์และส่งต่อข้อมูลว่า ปปง. เปิดให้ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยื่นคําร้องขอคุ้มครองสิทธิ เพื่อขอรับเงินคืนได้ ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่บิดเบือน สำนักงาน ปปง. จะดำเนินการเปิดรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเฉพาะในรายคดี ที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด ซึ่งกระบวนการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1. คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด
2. สำนักงาน ปปง. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จาก
– เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th
– เว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th
3. สำนักงาน ปปง. เปิดรับคำร้องฯ โดยให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ พร้อมหลักฐาน ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีประกาศฯ ตามช่องทางที่สำนักงาน ปปง. กำหนด โดยผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำร้องฯ ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน โดยพิจารณาข้อมูลของผู้เสียหายเทียบกับข้อมูลในราชกิจจานุเบกษาต้องตรงกัน ดังนี้
– พฤติการณ์กระทำผิดของคนร้าย
– ช่วงเวลาที่มีการกระทำผิด
– เลขคดีอาญาของพนักงานสอบสวน
– ชื่อบัญชีหรือเลขบัญชีธนาคาที่ใช้ในการโอนเงิน
ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงของผู้เสียหายตรงกับข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. แล้วย่อมถือว่า เป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้
4. ช่องทางการยื่นคำร้อง มีดังนี้
4.1 ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
4.2 ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จ่าหน้าซองมาที่สำนักงาน ปปง. เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
4.3 ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (ดูได้จากประกาศราชกิจจานุเบกษา)
5. หลักฐานประกอบการยื่นคำร้องฯ ประกอบด้วย
5.1 ต้องแนบหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
– สำเนาคำพิพากษาให้มีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย
– สำเนาหลักฐานการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญา
– สำเนาหลักฐานการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย
5.2 หลักฐานอื่นตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดและภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด (ดูได้จากประกาศราชกิจจานุเบกษา)
6. สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบคำร้องฯ และจัดทำความเห็นเกี่ยวกับความเสียหาย เสนอเลขาธิการ ปปง. เพื่อเสนอคณะกรรมการธุรกรรมมีความเห็น
7. เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย
ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะได้รับเงินชดใช้คืนเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดใช้คืนแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ดังนั้นขอเตือนว่า ข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าวเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถติดตามได้ที่ https://www.amlo.go.th/index.php/th/ หรือโทร. 02-219-3600
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : สำนักงาน ปปง. เปิดรับคำร้องขอรับคืนเงิน เฉพาะคดีที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้เสียหายเข้ายื่นคำร้องฯ ไม่ใช่การเปิดรับคำร้องฯ ในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทุกคดีแต่อย่างใด